บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

เปรียญเก้าเก่งจริงหรือ!!


ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้สรุปไปคร่าวๆ ว่า “นักปริยัติหรือพุทธวิชาการ” เป็นพวก “ทำลายศาสนาอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคน” เพราะ ความงมงายในศาสตร์ตะวันตก

และได้สรุปสาเหตุที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน โดยสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้ 
  1. เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
  2. ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
  3. ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง 

และได้อธิบายการเชื่อวิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎกไปแล้ว วันนี้จึงมาถึงหลักฐานสนับสนุนประเด็นที่ว่า ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์  กันต่อ

ปัญหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่สอนผิดเพี้ยนกันไปนั้น เกิดจากนักปริยัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้เปรียญเก้า

ส่วนใหญ่แล้วประชาชนที่มีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า “พระเปรียญเก้า” หรือ “เณรเปรียญเก้า” ต้องมีความรู้ในทางศาสนายอดเยี่ยม คำสอนต้องถูกต้องไปหมด

ผมขอยืนยันว่า “ความเชื่อ” ดังกล่าวนั้น ไม่จริง เพราะมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ “พระเปรียญเก้า” หรือ “เณรเปรียญเก้า” ขาดความรู้ความเข้าใจในทางศาสนา

หลักฐานสำคัญประการหนึ่งก็คือ ในการเรียนจนถึงเปรียญเก้านั้น ไม่มีการแปลพระไตรปิฎกอยู่ในหลักสูตรเลย 

และการเรียนจบเปรียญเก้านั้น ก็เหมือนกับการเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งผ่านหลักสูตร ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า พระ-เณรเปรียญเก้าจะเก่งเกินมนุษย์

หลักฐานอีกประการหนึ่ง ที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ การจบเปรียญเก้า ไม่ได้หมายความว่า จะมีองค์ความรู้ในด้านภาษาอย่างถูกต้อง

องค์ความรู้ด้านภาษานั้น วิชาภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง สามารถอธิบายภาษาได้ดีกว่าภาษาไทยและภาษาบาลี 

การขาดความเข้าใจในด้านภาษาศาสตร์จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจและสอนศาสนาผิดเพี้ยนไป

ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างเพียง 2 อย่างคือ

2.1 คำไวพจน์

คำไวพจน์ในทางศาสนาพุทธก็คือ คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันและสามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งพุทธวิชาการก็ชอบอธิบายไปในทำนองว่า คำไวพจน์นั้น สามารถแทนกันได้ทุกที่

ในทางภาษาศาสตร์นั้น ไม่มีคำไวพจน์อย่างที่ใช้กันในวงการพุทธวิชาการ  การใช้คำที่แทนกันได้นั้น สามารถใช้แทนกันได้ในบางบริบท (context) ไม่สามารถจะแทนกันได้ทุกที่ทุกบริบท

พูดให้เข้าง่ายๆ ก็คือ ไม่มีคำ 2 คำที่มีความหมายเหมือนกันทุกประการ ไม่มีคำคู่ใดที่สามารถแทนที่กันได้ทุกบริบท

ขอยกตัวอย่างเป็นนิทานก็แล้วกัน เพราะน่าจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

เรื่องก็มีอยู่ว่า คุณยายท่านหนึ่งพาหลานไปทำบุญด้วย ระหว่างที่พระกำลังสวดอยู่นั้น ผู้เป็นหลานหิวข้าว ก็งอแงให้คุณยายหาข้าวให้กิน

หนูน้อยคงจะงอแงจนคุณยายโมโหจนถึงขีดสุด จึงตะโกนออกมาด้วยเสียงอันดังว่า "รอให้พระแดกก่อน แล้วมึงค่อยฉัน"

คำสอนจากนิทานเรื่องดังกล่าว ก็น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า คำไวพจน์นั้น ไม่สามารถแทนกันได้ทุกที่

2.2 ความหมาย

เรื่องความหมายนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากในทางภาษาศาสตร์ ขนาดเรียนกันถึงปริญญาเอก แล้วทำวิจัยกันแล้วกันอีกก็ยังไม่จบไม่สิ้น

ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า พระที่ผ่านเปรียญเก้ามาจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ได้ (หมายความว่าไม่ศึกษาเพิ่มเติมเลย)

พูดกันง่ายๆ ว่า วิชาที่ศึกษากันเกี่ยวกับความหมาย คือ อรรถศาสตร์ (Semantics) นั้น เป็นวิชาใหม่และค่อนข้างจะเข้าใจยาก ถ้าไม่ลงเรียนโดยตรง ให้ครูบาอาจารย์ด่าเสียบ้าง ก็มักจะไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง

ขนาดว่าวิชาอรรถศาสตร์ใหม่และยากแล้ว แต่ในทางภาษาศาสตร์มีวิชาที่ใหม่กว่านั้นอีก คือ วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์ (Pragmatics)

วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์เป็นการศึกษาวิธีการใช้ถ้อยความ (utterance) เพื่อสื่อความหมายในการสื่อสาร เช่น แบบตรงตัว แบบอุปมาอุปไมย เป็นต้น

โดยสรุปเพื่อให้สั้นเข้า ความหมายของประโยคภาษานั้น ไม่ได้เกิดจากเอาความหมายของคำเข้ามารวมกัน ความหมายของประโยคสามารถบอกไปถึงความหมายที่นอกเหนือไปจากนั้น

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจ ดังนี้

สมมุติว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์การค้า อาจจะรอเพื่อนหรือรอแฟนอยู่  ท่านก็เห็นวัยรุ่น 2 ท่านเดินมาพบกันที่ข้างหน้าท่านพอดี

วัยรุ่นท่านหนึ่งใส่ชุดดำ สมมุติว่าชื่อสมัคร วัยรุ่นอีกท่านหนึ่งแต่งตัวปกติธรรมดา สมมุติว่าชื่อชวลิต

วัยรุ่นทั้ง 2 ท่านนั้น มีบทสนทนาที่ท่านบังเอิญได้ยิน ดังนี้
ชวลิต : ไอ้หมัก ไปไหนมาวะ
สมัคร : ไปเผาลุงของเพื่อนกับแม่มาว่ะ

คำพูดเพียง 2 ประโยคดังกล่าวนั้น ให้ความหมายเป็นจำนวนมากแก่ผู้ฟัง และความหมายนั้นมีมากกว่าความหมายของคำในประโยคที่พูดกันอยู่

ความหมายที่ได้จากประโยคเพียง 2 ประโยคข้างต้น มีอย่างน้อย ดังนี้ 
  1. คุณสมัครมีเพื่อนคนหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
  2. เพื่อนของคุณสมัครนั้น ไม่พ่อกับแม่จะต้องมีพี่ชายอย่างน้อย 1 คนคือ คนที่ตายและเผาไปแล้ว คำว่า ลุงกำหนดให้รู้ว่า ต้องเป็นพี่และเป็นผู้ชาย
  3. ครอบครัวของคุณสมัครและเพื่อนนั้น ผู้ปกครองคงจะสนิมสนมกันด้วย และความสนิทสนมเริ่มจากคุณสมัครและเพื่อน ไม่ได้เกิดจากแม่ของคุณสมัคร 

โดยปกติแล้ว ถ้าผู้ปกครองไม่สนิทกันด้วย คุณสมัครก็น่าจะไปพิธีเผาศพคนเดียว และในกรณีนี้ ไม่น่าที่จะเป็นไปว่า ทางแม่ของคุณสมัครกับแม่เพื่อนสนิทกันมาก่อน

กล่าวคือ แม่กับแม่เป็นเพื่อนกันมาก่อน และลูกกับลูกก็เป็นเพื่อนกันอีก

ถ้าเป็นกรณีอย่างหลังนี้คุณสมัครน่าจะพูดว่า "ไปเผาพี่ชายของเพื่อนแม่มาว่ะ" หรือ "ไปเป็นเพื่อนแม่ในงานศพว่ะ"  ทำนองนี้

สำหรับประโยคของการสนทนาประโยคต่อไปนั้น  เดาได้เลยว่า ประโยคต่อไปคุณสมัครก็ต้องถามคุณชวลิตว่า "เอ้า แล้วแม่มึงไปไหน"

ขอยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวอีกนิดหนึ่ง คือ ข้อความจากอนัตตลักขณสูตร ดังนี้ ในส่วนที่ให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ

 [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลายเพราะเหตุนั้นแล
[รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]
เธอทั้งหลายพึงเห็น [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ผมขอฟังธงด้วยหลักการของทางภาษาศาสตร์เลยว่า ข้อความที่ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา แสดงว่า ตัวตนของเรามี  แต่ไม่ใช่ขันธ์ 5 [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้นดังนี้

ตอนที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ครูมักจะพาไปทัศนาจรตอนที่โรงเรียนปิดเทอมเป็นประจำ ก็เหมารถบัสกันไป ที่ไปเที่ยวกันนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะโรงเรียนเราโรงเรียนเดียว โรงเรียนอื่นเขาก็ไปกัน 

ครั้งหนึ่งไปเที่ยวบางแสน  คนขับก็ปล่อยให้นักเรียนลงไปเที่ยวก่อน แล้วไปหาที่จอดรถทีหลัง 

เมื่อเที่ยวกันพอสมควรแก่เวลาแล้วก็จะกลับ ผมเดินกลับมาถึงรถแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นรถ เพราะมันร้อน  สมัยนั้นยังไม่มีรถปรับอากาศแบบสมัยนี้ ก็เลยนั่งรอเพื่อนๆ อยู่ในบริเวณนั้น

ระหว่างที่นั่งรออยู่นั้น ก็เห็นเพื่อนสนิทกัน 2-3 คน เดินไปขึ้นรถคันอื่น แบบหน้าตาเฉย

ผมก็วิ่งไปบอกเพื่อนว่า "เฮ้ย ไม่ใช่รถเรา"

ในกรณีเช่นนี้ แสดงว่า รถเราต้องมี  ถ้าผมกับเพื่อนไปรถโดยสาร ผมก็ต้องใช้ประโยคอื่นๆ เช่น  รถคันนี้ไม่ใช่รถโดยสาร เป็นต้น

โดยสรุป

จะเห็นได้ว่า นักปริยัติ/พุทธวิชาการ รวมถึงพุทธปฏิบัติธรรมบางท่าน บางสายไม่เข้าใจประเด็นเกี่ยวกับความหมาย  พอมีคนตีความแบบผิดๆ ไปว่า "ตัวตนไม่มี" เพราะเข้ากันได้ดีกับวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า เกิดมาหนเดียว

เมื่อไม่เข้าใจเรื่องความหมาย เห็นฝรั่งเป็นเทวดา  ก็จำกันมาอย่างนั้นอย่างผิดๆ และ สอนกันไปอย่างผิดๆ

ตรงนี้ขอบอกล่วงหน้าเลยว่า วิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ตัวตนของเรานั้นมีแน่นอน พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิชาการ 

นอกจากนั้นแล้ว ตัวตนของเรามีทั้งแบบที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแบบที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ซึ่งจะได้นำมาเสนออย่างละเอียดในบันทึกที่เกี่ยวข้องต่อไป...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น