บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

เชื่อปรัชญามากกว่า


ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้สรุปไปคร่าวๆ ว่า “นักปริยัติหรือพุทธวิชาการ” เป็นพวก “ทำลายศาสนาอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคน” เพราะ ความงมงายในศาสตร์ตะวันตก

และได้สรุปสาเหตุที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน โดยสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้
  1. เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
  2. ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
  3. ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง 
และได้อธิบายการเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎกไปแล้ว วันนี้จึงมาถึงหลักฐานสนับสนุนประเด็นที่ว่า เชื่อปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก

เชื่อปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก

ในช่วงนี้ก็ต้องบอกก่อนว่าปรัชญาตะวันตกมันคืออะไร

ปรัชญาตะวันตก หมายถึง แนวความคิด หลักการที่ต้องการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ซึ่งก่อเกิดในทวีปยุโรป  ปรัชญาตะวันตกเป็นแม่ของวิชาทั้งปวงที่เราได้เรียนกันในโรงเรียนในปัจจุบันนี้

วิชาต่างๆ เหล่านี้ เช่น สังคมศึกษา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ รวมถึงวิทยาศาสตร์ ต่างก็เกิดมาจากวิชาปรัชญาทั้งสิ้น

ปรัชญาตะวันตกมีความเป็นมายาวนานพอๆ กับศาสนาพุทธของเรา มีนักปรัชญาเป็นจำนวนมาก ปรัชญาตะวันตกในปัจจุบันนี้ มีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้
  1. อัชฌัตติกญาณนิยม 
  2. ปฏิบัตินิยม 
  3. ปฏิฐานนิยม 
  4. ปฏิฐานนิยมใหม่  
  5. อัตถิภาวนิยม 
  6. สัจนิยมใหม่   
  7. อัสมาจารย์นิยมใหม่ 
  8. ปรัชญาวิเคราะห์ 
ขอเน้นตรงนี้ว่า ปรัชญาวิเคราะห์ (analytic philosophy) นั้น ใช้หลักการของภาษาศาสตร์เป็นอย่างมาก อาจจะกล่าวได้ว่า ปรัชญาวิเคราะห์กับปรัชญาภาษาเป็นคู่แฝดกัน ไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน

ลักษณะเด่นของปรัชญาก็คือ นักปรัชญามีความเชื่อว่า ยังไม่มีองค์ความรู้ใด หาความจริงแท้ได้แล้ว  ดังนั้น เมื่อนักปรัชญาจะศึกษาสิ่งใดก็ตาม ก็มักจะไปเลือกไปหยิบเอาองค์ความรู้นั่นนิด องค์ความรู้นั่นหน่อย มาผสมผสานตีความตามหลักการของเหตุผล พัฒนาเป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

ลักษณะด้วยของปรัชญาก็คือ นักปรัชญาจะ “นั่งอยู่ในห้อง” แล้วคิดไปตามระบบเหตุผล จะไม่ลงไปดู หรือไปสังเกต หรือไปทดลองใดๆ  คิดด้วยปัญญาตามระบบเหตุผลของตนเองอย่างเดียว

เมื่อลงมาถึงนักปรัชญาก็มีจะข้อบกพร่องขึ้นไปอีก โดยเฉพาะนักปรัชญาชาวไทย ซึ่งก็คือ ความลำเอียง คือ ถ้าจะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะไปหาเฉพาะความรู้ที่สอดคล้องมาสนับสนุน

ความรู้ในส่วนที่แย้งก็มีอยู่ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นซะยังงั้น

ยกตัวอย่างเช่น  พวกที่ชอบสอนว่า "ตัวตนไม่มี"  ตัวเรา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับตัวเป็นเพียงสภาวะ ที่มีเหตุปัจจัยมาประกอบกันชั่วคราวเท่านั้น

การสอนที่ว่าตัวตนไม่มีนั้น ขัดกับพุทธพจน์จำนวนมากมายมหาศาล  พวกพุทธปรัชญาก็ทำเป็นว่า ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เอามาวิเคราะห์ อย่างเช่นพระสูตรที่ผมยกมานี้ 
  • [๗๑๒] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
  • ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
  • ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล. 

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างชัดเจนว่า ให้พึ่งตนเอง และพึ่งธรรมะ แสดงว่า ตัวตนกับธรรมะ มีความสำคัญเท่าๆ กัน เลยทีเดียว แล้วตัวตนจะไม่มีได้อย่างไร

พวกที่เขียนหรือสอนว่า "ตัวตนไม่มี" นั้น  เมื่อเขียนถึงประเด็นนี้ ก็จะไม่ยกพระสูตรดังกล่าวหรือพระสูตรที่มีเรื่องตัวตนเข้ามาอธิบาย

ขอยกตัวอย่างพุทธภาษิตเพิ่มเติม ดังนี้ 
  • ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อตฺตา   หิ  อตฺตโน  นาโถ
  • ชนะตนนั่นแหละประเสริฐกว่า อตฺตา  หเว   ชิตํ  เสยฺโย
  • บัณฑิตย่อมฝึกตน อตฺตานํ   ทมยนฺติ  ปณฺฑิตา
  • จงเตือนตนด้วยตนเอง อตฺตนา   โจทยตฺตานํ
  • คนเห็นแก่ตัว   เป็นคนสกปรก อตฺตตฺถปญฺญา   อสุจี  มนุสฺสา
  • เมื่อคบคนดีกว่าตน ตนเองก็ดีขึ้นมาทันที เสฏฺฐมุปคมญฺจ   อุเทติ  ขิปฺปํ
  • ผู้ฝึกตนได้เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ ทนฺโต   เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ 
ขอให้สังเกตดูว่า เมื่อใดที่พุทธวิชาการหรือนักปริยัติเขียนถึงเรื่อง ตัวตนไม่มีนักปริยัติจะทำเป็นหูหนวก ตาบอด เหมือนไม่เคยพบข้อความดังกล่าวมาก่อน  ไม่อ้างถึงเสียดื้อๆ

ตามหลักการเขียนที่ดีแล้ว  เมื่อเราต้องการนำเสนอสิ่งใด เราก็หาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ พร้อมกันนั้น เราก็ต้องหาหลักฐานมาหักล้าง สิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เรานำเสนอด้วย

นักปริยัติเห็นว่า ตัวตนไม่มี”  แต่มีพุทธพจน์จำนวนมากที่ยืนยันว่า ตัวตนมี”  ถ้านักปริยัติมีปัญญาในด้านการคิดวิเคราะห์อยู่บ้าง ก็ควรหาหลักฐานมาหักล้าง แต่นักปริยัติไม่เคยทำสิ่งเหล่านั้น...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น