บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

เชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่า


ในบทความ “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” กับ “งมงายกับศาสตร์ตะวันตก” ผมได้สรุปไปคร่าวๆ ว่า “นักปริยัติหรือพุทธวิชาการ” เป็นพวก “ทำลายศาสนาอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคน” เพราะ ความงมงายในศาสตร์ตะวันตก

และได้สรุปสาเหตุที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน โดยสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้ 
  1. เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
  2. ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
  3. ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง 

วันนี้จึงมาถึงหลักฐานสนับสนุนประเด็นที่ว่า เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก

เชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก

ถ้าแบ่งคนไทยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยการได้เรียนกับไม่ได้เรียน จะเห็นว่า คนที่ได้เรียนหนังสือจะเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนา 

ดังนั้น คำพูดที่ว่า "นรก-สวรรค์ไม่มี เพราะพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์" จะพบได้จากพวกที่ได้เรียนหนังสือเท่านั้น

สำหรับคนไทยกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็จะเชื่อไปตามเดิมว่า นรก สวรรค์ มีจริงๆ บุญกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

สาเหตุที่คนที่ได้รับการศึกษา มีความเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนานั้น เริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกเอง ที่ดันคิดผิดไปว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว  เป็นความรู้ที่จริงที่สุด ความรู้อย่างอื่นๆ ไม่จริงทั้งหมด

ความเชื่อที่ว่านี้ เป็นความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18  ก็ประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว

เมื่อองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์เข้ามาอาละวาดในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 4  พุทธวิชาการทั้งหลายที่เห็นว่า "ฝรั่งเป็นเทวดา

ฝรั่งว่าอะไรมาเป็นถูกหมด ขาดการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ ด้วยตัวของตัวเอง  จำอย่างเดียว  ก็ตีความศาสนาพุทธให้เข้ากับวิทยาศาสตร์

คำสอนในพระไตรปิฎกที่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ก็มีการตีความกันใหม่

นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิดจึงมีการตีความกันใหม่  จนทำให้เนื้อหาคำสอนของศาสนาพุทธ ผิดเพี้ยนไปหมด

ขอหลักฐานสนับสนุนจากหนังสือของพระไพศาล วิสาโล ที่ชื่อว่า พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต ดังนี้

หน้า 26
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความคิดทางวิทยาศาสตร์มีส่วนอย่างมากในการทำให้พระองค์ยากที่จะยอมรับเรื่องนรกสวรรค์ กระนั้นพระองค์ก็ไม่อาจปฏิเสธเรื่องดังกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ สาเหตุก็เพราะมีพุทธพจน์รับรองเอาไว้ ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนเมื่อตรัสถึงนรกที่ปรากฏในพระไตรปิฏกว่า ส่วนเราย่อมตีราคาพระศาสนาของเราสูงโดยธรรมดา มาพบเรื่องเช่นนี้เข้าไปในปกรณ์ของเรา ย่อมตะขิดตะขวง จะรับรองก็อาย จะปฏิเสธก็ไม่ถนัดปาก (กรมพระยาวชิรญาณฯ 2538 ก : 83)

หน้า 27 
โดยในคำขอผ้ากาสายะ ทรงโปรดให้ตัดข้อความบาลีที่แปลว่า เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน เป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวง ด้วยเหตุผลว่า ไม่ตรงต่อความจริงใจของผู้กล่าวมากกว่ามาก (กรมพระยาวชิรญาณฯ 2518 ง : 188) กลายเป็นว่าการบวชไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำพระนิพพานให้แจ้งอีกต่อไป

หน้า 27 28
ในยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรยาณวโรรส นี้เองที่พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม (ภายใต้โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์)  ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้ ได้แพร่ขยายไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากหลักฐานที่ยกมาสนับสนุนข้างต้นนั้น  จะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์เข้ามากับสนธิสัญญาบาวริ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2398   

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มตีความศาสนาพุทธให้เป็นวิทยาศาสตร์ และก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย ถึงขนาดที่ว่า “แก้คำขอบวช” ไม่ให้เพื่อนิพพานกันเลยทีเดียว

ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้น ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ยอมรับเองว่า การที่นักวิทยาศาสตร์สมัยปลายศตวรรษที่ 18 คิดไปอย่างนั้น  เป็นการคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะ วิทยาศาสตร์ยังหาความจริงแท้ๆ ไม่ได้  หาได้เพียงความจริงเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น

การที่มีความเชื่อว่า วิทยาศาสตร์เป็นความจริงอย่างเดียว องค์ความรู้อื่นๆ ไม่จริงหมด ส่งผลเสียนานัปการแก่โลกใบนี้  เนื่องจากวิทยาศาสตร์เก่านั้น มีลักษณะการค้นหาความรู้ที่ต้องเลือกศึกษาสิ่งต่างๆ เฉพาะส่วน

พูดง่ายก็คือ จะศึกษาอะไรก็ตัดออกมาเป็นชิ้นเล็กแล้วก็ศึกษากันไป  จึงทำให้ไม่สามารถหาความจริงในภาพรวมได้

มีนักวิชาการเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเดินไปในป่า เห็นแต่ต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า ฉะนั้น

การที่โลกมีคนชั่วมากมาย มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล จนกระทั่งโลกอยู่เฉยๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ก็โต้ตอบมนุษย์เข้าบ้าง

จะเห็นว่า เกิดอุบัติภัยใหญ่ๆ ถี่มากในระยะนี้ ก็เป็นผลพวงของการเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนานี่แหละ….



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น