บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระภิกษุทำสมาธิ...


พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระภิกษุทำสมาธิ...

เป็นหัวข้อกระทู้ถามในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง  เนื้อหาก็เป็นว่า...

*-*-*-* 

มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนในห้องให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก สอนว่า..พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระภิกษุทำสมาธิ...

*-*-*-* 

ผมได้ฟังไฟล์นั้นมาเช่นเดียวกัน  พอสรุปได้ดังนี้....

[1].. ท่านว่า... ไม่มีในที่ใดของพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสมาธิ ท่านถามพระพม่า.. พระพม่าก็ยืนยันอย่างนั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนปฏิบัติธรรมในประเทศไทย  ไม่มีในพระไตรปิฎก

[2]..  ท่านว่า.. การที่พระพุทธเจ้าไปเรียนฌาน ๔ ฌาน ๘ มานั้น  "การเรียนดังกล่าวผิด" ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้

[3]..  ท่านเป็นผู้ไม่ปฏิบัติธรรมแบบสมถะกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจะใช้วิธีรู้ระลึกแบบสติปัฏฐาน ๔  

ท่านก็ว่า... ท่านมีความดีพอสำหรับท่านแล้ว

วิพากษ์วิจารณ์กัน....... 

[1].. การพูดว่า "พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระภิกษุทำสมาธิ..."  นรกเป็นที่ไปอย่างแน่นอน  

สำหรับผมเอง ผมจะพูดแบบนี้......  

*-*-*-*-*

ในพระไตรปิฎก ไม่มีการบันทึก "วิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไร" ไว้ บันทึกแต่ผล

*-*-*-*-*

(ดูภาพ) ตั้งแต่ฌาน ๑ - ฌาน ๔ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบรรยายว่า ทำอย่างไร?

ตรงนี้ #วิชาธรรมกาย มีคำอธิบาย  ฌาน ๑ - ๘ จะเป็นแผ่นกลมคล้ายเขียงหั่นผัก ซ้อนกันอยู่  

เมื่อเราจะทำฌาน ๑ เราก็เอาฌานแผ่น ๑ มาไว้เป็นแผ่นแรก  ฌานแผ่นอื่นก็เรียงลงไป 

ถ้าต้องการทำฌาน ๒  ฌาน ๒ ก็จะมาเป็นแผ่นแรก ฌาน ๑ ก็จะไปต่อท้ายฌาน ๘ 

ฌาน ๓, ฌาน ๔ ก็ทำในทำนองเดียวกันนี้ 

สำหรับการระลึกชาตินั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้ในหนังสือคู่มือสมภาร  ขอให้ไปอ่านโดยละเอียดเอาเอง มีการสอน "วิธีการเดินวิชาโดยละเอียดไว้ด้วย"

*-*-*-*-*

๐๕ การฝึกปุพเพนิวาสญาณกับจุตูปปาตญาณ

https://originalabbothandbook.blogspot.com/2011/11/blog-post_14.html

*-*-*-*-*

[2]..  การที่พระพุทธเจ้าไปเรียนฌาน ๔ ฌาน ๘ มานั้น "ไม่ใช่ว่า **ผิด**"  

แต่พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า "แค่นี้ ยังไม่พอ" ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน  

การที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานบารมีมา จนครบ ๓๐ ทัศ  ไม่ว่าจะทำอย่างไร พระองค์ก็จะต้องทรงบรรลุมรรคผลนิพพานแน่ๆ 

ประเด็นนี้ คุณลุงการุณย์ บุญมาบุช เคยกล่าวไว้ว่า...  **การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นง่าย... ยากตอนสร้างบารมีให้ครบ ๓๐ ทัศ**

ถึง ณ บัดนี้ เราทราบว่า..ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่า "หัวข้อธรรมะนี้" ให้ปฏิบัติอย่างไร บันทึกไว้แต่ผล  ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบก็คือ......

ทุกคนในยุคนั้น รู้ดีกว่า "ปฏิบัติธรรม" เป็นอย่างไร

ยุคนั้นมีพระอรหันต์เต็มไปหมด ทุกคนต้องรู้ว่า "เรื่องนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น" 

แต่ต่อมา.. เมื่อพระอรหันต์ไม่มี  การปฏิบัติที่เคยรู้ๆ กันอยู่ ก็เลยไม่มีใครเข้าใจ... ไม่มีใครทำได้

ยกตัวอย่างเช่น....  

คนในกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว  มีเพื่อนสมัยเรียนมัธยมด้วยกัน นัดกันว่า... ***เฮ้ย ไปเจอกันที่เขาดิน!!!*** 

เพื่อนๆ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของกรุงเทพฯ ก็ไป "เขาเดิน" กันได้ทุกคน เพราะ ทุกคนรู้ว่า "มันอยู่ตรงไหน จะไปอย่างไร"

สมมุติอีก 50 ปีข้างหน้า   มีคนนัดกันว่า ***เฮ้ย ไปเจอกันที่เขาดิน!!!***  คราวนี้จะเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว ว่า จะไปกันอย่างไร

เพราะ "เขาดิน" ไม่มีแล้ว  บางคนอาจจะสงสัยว่า "เขาดิน" อยู่ข้างภูเขาทองหรือไง  ฯลฯ 

โดยสรุป..... 

การที่ในพระไตรปิฎก ไม่มีการบันทึก "วิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไร" ไว้ บันทึกแต่ผล

แล้วมีคนมาพูดว่า "พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระภิกษุทำสมาธิ..."  

ตรงนี้ แสดงว่า... ผู้พูดไม่เชื่อ "พระไตรปิฎก" แล้ว ไปเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าแล้ว  

เมื่อศึกษาพฤติกรรมของท่านดังกล่าวดู  พฤติกรรมก็ชี้ไปอย่างนั้น  เพราะ พยายามไปโจมตีประเด็น ฌาน ๔ ฌาน ๘

ในพระไตรปิฎกนั้น  ต้องมีการปฏิบัติธรรมแน่ๆ ไม่ปฏิบัติธรรมไม่ได้ 

วิชชา ๓ นั้น ชัดเจนที่สุด  การระลึกชาติของตนเอง การรู้วันเกิดวันตายของคนอื่น  ต้องใช้การปฏิบัติธรรม จะมา "นึกคิด" เอาเองไม่ได้

แล้วในการตรวจสอบนั้น  พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้หลัก "มหาปเทส 4" ไว้ตรวจสอบ

หลัก "มหาปเทส 4" ก็คือ การตีความว่า.... ที่สอนอยู่นั้น สอดคล้องกับพระสูตร พระวินัยหรือไม่ 

สาย #วิชาธรรมกาย นั้น ก็สอดคล้องกับพระสูตร พระวินัย  พระพุทธเจ้านั้น เราเห็นพระองค์ทุกวันด้วยวิชาธรรมกาย

บุคคลที่ว่านี้... 

เมื่อตรวจดูดวงธรรม  ปรากฎว่า "ดำสนิท" ดวงบุญก็มองไม่เห็น 

นรกนั่นแหละ เป็นที่ไปของเขา

-------------------------

เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)

www.manaskomoltha.net

Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/manas4299/

Line ID : manas4299

Youtube: https://www.youtube.com/user/mommeam4299/

ปฏิบัติธรรมไม่ถูกต้อง

ผมได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจศาสนาผิดเพี้ยน และสอนผิดเพี้ยนจน “ศีลธรรม” ของประชาชนคนไทยตกต่ำจนถึงที่สุด  ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมายไปแล้ว 2 ข้อ คือ

1) เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
2) ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์

บันทึกนี้ จะกล่าวถึงข้อที่สาม คือ “ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง”

ข้อบกพร่องตรงนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง พวกไม่ปฏิบัติธรรมเลย

พวกนี้ส่วนใหญ่ศึกษาศาสนาพุทธแบบปรัชญา คือ ศึกษาโดยเหตุผล คิดไปเรื่อย วิเคราะห์โน่นวิเคราะห์นี่ เปรียบเทียบศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์ กับศาสนาอื่นๆ แต่ไม่เคยปฏิบัติธรรมเลย

อาการปวดขา จากการนั่งนานๆ ก็ไม่เคยพบ  กลุ่มนี้จึงไม่มีทางเข้าใจศาสนาพุทธได้อย่างถูกต้องเลย

ถ้ามองในมุมมองของผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายแล้ว น่าสงสารมาก คือ เกิดมาเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง ไม่ได้บุญบารมีติดตัวไปบ้างเลย

กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เอาจริงเอาจัง แต่ปฏิบัติไม่ถูกทาง

ไม่ถูกทางอย่างไร?

ก่อนที่จะอ่านตรงนี้ ผมขอให้ทำตัวเป็นกลางๆ ไว้ก่อน คือ อย่าเพิ่งเข้าข้าง หรือ อย่าเพิ่งโต้แย้ง ไม่อย่างนั้น การอ่านบันทึกนี้ก็จะเสียเวลาและเสียอารมณ์ไปเปล่า

ถ้าใช้หลักการของแนวคิดทางปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ก็คือ ขอให้วงเล็บความรู้เก่าๆ ของตนเองไว้ก่อน

คือทำตัวเป็นกลางจริงๆ

แล้วพิจารณาว่า ในพระไตรปิฎกนั้น กริยาที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ รู้ และ เห็น  ซึ่งในภาษาบาลีก็คือ ญาณทัสสนะ

ญาณคือรู้  ทัสสนะคือเห็น 

ถ้าปราศจากญาณทัสสนะแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเนื้อหาธรรมะได้เลย

คำสำคัญอีก 2 คำก็คือ วิปัสสนา และตรัสรู้

วิปัสสนา  แปลว่า เห็นแจ้ง  วิ คือ “แจ้ง”  ปัสสนา คือ “เห็น”

ตรัสรู้ แปลว่า “รู้แจ้ง”  ตรัส คือ “แจ้ง” [มาจากภาษาเขมร] “รู้” เป็นภาษาไทย

โดยสรุปก็คือ ถ้าปราศจากการ "เห็น" แล้ว  เราไม่มีทาง "รู้" ได้เลย  ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่เห็นแล้วจะรู้ได้อย่างไร

สายปฏิบัติธรรมใดก็ตามที่ปฏิเสธการเห็นไปทั้งหมด  การสอนผิดไปจากพุทธพจน์ ผิดไปจากพระไตรปิฎก ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้อง

สายปฏิบัติธรรมใดที่ยอมรับว่ามีการเห็นเกิดขึ้นได้ เพราะ ในพระไตรปิฎกนั้น มีคำว่า "เห็น" ประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก

ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ท่านสอนให้ "เห็น" อะไร  เป็นไปตามเนื้อหาของพระไตรปิฎกหรือไม่

ถ้าสอนให้เห็นอะไรเปรอะไป ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีหลักสูตร ก็ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

โดยสรุป

ในบันทึกนี้ ผมจะนำความรู้ง่ายๆ ในพระไตรปิฎกที่พุทธศาสนิกชนยังเข้าใจผิดกันอยู่ นักปริยัติ/พุทธวิชาการก็อธิบายไม่ชัดเจน พุทธปฏิบัติธรรมก็อธิบายไม่ชัดเจน แต่วิชาธรรมกายหรือธรรมกายศาสตร์นั้น สามารถอธิบายได้อย่างเป็นวิชาการมานำเสนอต่อไป...



เปรียญเก้าเก่งจริงหรือ!!


ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้สรุปไปคร่าวๆ ว่า “นักปริยัติหรือพุทธวิชาการ” เป็นพวก “ทำลายศาสนาอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคน” เพราะ ความงมงายในศาสตร์ตะวันตก

และได้สรุปสาเหตุที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยน โดยสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้ 
  1. เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
  2. ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
  3. ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง 

และได้อธิบายการเชื่อวิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎกไปแล้ว วันนี้จึงมาถึงหลักฐานสนับสนุนประเด็นที่ว่า ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์  กันต่อ

ปัญหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่สอนผิดเพี้ยนกันไปนั้น เกิดจากนักปริยัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้เปรียญเก้า

ส่วนใหญ่แล้วประชาชนที่มีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า “พระเปรียญเก้า” หรือ “เณรเปรียญเก้า” ต้องมีความรู้ในทางศาสนายอดเยี่ยม คำสอนต้องถูกต้องไปหมด

ผมขอยืนยันว่า “ความเชื่อ” ดังกล่าวนั้น ไม่จริง เพราะมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ “พระเปรียญเก้า” หรือ “เณรเปรียญเก้า” ขาดความรู้ความเข้าใจในทางศาสนา

หลักฐานสำคัญประการหนึ่งก็คือ ในการเรียนจนถึงเปรียญเก้านั้น ไม่มีการแปลพระไตรปิฎกอยู่ในหลักสูตรเลย 

และการเรียนจบเปรียญเก้านั้น ก็เหมือนกับการเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งผ่านหลักสูตร ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า พระ-เณรเปรียญเก้าจะเก่งเกินมนุษย์

หลักฐานอีกประการหนึ่ง ที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ การจบเปรียญเก้า ไม่ได้หมายความว่า จะมีองค์ความรู้ในด้านภาษาอย่างถูกต้อง

องค์ความรู้ด้านภาษานั้น วิชาภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง สามารถอธิบายภาษาได้ดีกว่าภาษาไทยและภาษาบาลี 

การขาดความเข้าใจในด้านภาษาศาสตร์จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักปริยัติ/พุทธวิชาการเข้าใจและสอนศาสนาผิดเพี้ยนไป

ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างเพียง 2 อย่างคือ

2.1 คำไวพจน์

คำไวพจน์ในทางศาสนาพุทธก็คือ คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันและสามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งพุทธวิชาการก็ชอบอธิบายไปในทำนองว่า คำไวพจน์นั้น สามารถแทนกันได้ทุกที่

ในทางภาษาศาสตร์นั้น ไม่มีคำไวพจน์อย่างที่ใช้กันในวงการพุทธวิชาการ  การใช้คำที่แทนกันได้นั้น สามารถใช้แทนกันได้ในบางบริบท (context) ไม่สามารถจะแทนกันได้ทุกที่ทุกบริบท

พูดให้เข้าง่ายๆ ก็คือ ไม่มีคำ 2 คำที่มีความหมายเหมือนกันทุกประการ ไม่มีคำคู่ใดที่สามารถแทนที่กันได้ทุกบริบท

ขอยกตัวอย่างเป็นนิทานก็แล้วกัน เพราะน่าจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

เรื่องก็มีอยู่ว่า คุณยายท่านหนึ่งพาหลานไปทำบุญด้วย ระหว่างที่พระกำลังสวดอยู่นั้น ผู้เป็นหลานหิวข้าว ก็งอแงให้คุณยายหาข้าวให้กิน

หนูน้อยคงจะงอแงจนคุณยายโมโหจนถึงขีดสุด จึงตะโกนออกมาด้วยเสียงอันดังว่า "รอให้พระแดกก่อน แล้วมึงค่อยฉัน"

คำสอนจากนิทานเรื่องดังกล่าว ก็น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า คำไวพจน์นั้น ไม่สามารถแทนกันได้ทุกที่

2.2 ความหมาย

เรื่องความหมายนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากในทางภาษาศาสตร์ ขนาดเรียนกันถึงปริญญาเอก แล้วทำวิจัยกันแล้วกันอีกก็ยังไม่จบไม่สิ้น

ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า พระที่ผ่านเปรียญเก้ามาจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ได้ (หมายความว่าไม่ศึกษาเพิ่มเติมเลย)

พูดกันง่ายๆ ว่า วิชาที่ศึกษากันเกี่ยวกับความหมาย คือ อรรถศาสตร์ (Semantics) นั้น เป็นวิชาใหม่และค่อนข้างจะเข้าใจยาก ถ้าไม่ลงเรียนโดยตรง ให้ครูบาอาจารย์ด่าเสียบ้าง ก็มักจะไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง

ขนาดว่าวิชาอรรถศาสตร์ใหม่และยากแล้ว แต่ในทางภาษาศาสตร์มีวิชาที่ใหม่กว่านั้นอีก คือ วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์ (Pragmatics)

วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์เป็นการศึกษาวิธีการใช้ถ้อยความ (utterance) เพื่อสื่อความหมายในการสื่อสาร เช่น แบบตรงตัว แบบอุปมาอุปไมย เป็นต้น

โดยสรุปเพื่อให้สั้นเข้า ความหมายของประโยคภาษานั้น ไม่ได้เกิดจากเอาความหมายของคำเข้ามารวมกัน ความหมายของประโยคสามารถบอกไปถึงความหมายที่นอกเหนือไปจากนั้น

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจ ดังนี้

สมมุติว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์การค้า อาจจะรอเพื่อนหรือรอแฟนอยู่  ท่านก็เห็นวัยรุ่น 2 ท่านเดินมาพบกันที่ข้างหน้าท่านพอดี

วัยรุ่นท่านหนึ่งใส่ชุดดำ สมมุติว่าชื่อสมัคร วัยรุ่นอีกท่านหนึ่งแต่งตัวปกติธรรมดา สมมุติว่าชื่อชวลิต

วัยรุ่นทั้ง 2 ท่านนั้น มีบทสนทนาที่ท่านบังเอิญได้ยิน ดังนี้
ชวลิต : ไอ้หมัก ไปไหนมาวะ
สมัคร : ไปเผาลุงของเพื่อนกับแม่มาว่ะ

คำพูดเพียง 2 ประโยคดังกล่าวนั้น ให้ความหมายเป็นจำนวนมากแก่ผู้ฟัง และความหมายนั้นมีมากกว่าความหมายของคำในประโยคที่พูดกันอยู่

ความหมายที่ได้จากประโยคเพียง 2 ประโยคข้างต้น มีอย่างน้อย ดังนี้ 
  1. คุณสมัครมีเพื่อนคนหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
  2. เพื่อนของคุณสมัครนั้น ไม่พ่อกับแม่จะต้องมีพี่ชายอย่างน้อย 1 คนคือ คนที่ตายและเผาไปแล้ว คำว่า ลุงกำหนดให้รู้ว่า ต้องเป็นพี่และเป็นผู้ชาย
  3. ครอบครัวของคุณสมัครและเพื่อนนั้น ผู้ปกครองคงจะสนิมสนมกันด้วย และความสนิทสนมเริ่มจากคุณสมัครและเพื่อน ไม่ได้เกิดจากแม่ของคุณสมัคร 

โดยปกติแล้ว ถ้าผู้ปกครองไม่สนิทกันด้วย คุณสมัครก็น่าจะไปพิธีเผาศพคนเดียว และในกรณีนี้ ไม่น่าที่จะเป็นไปว่า ทางแม่ของคุณสมัครกับแม่เพื่อนสนิทกันมาก่อน

กล่าวคือ แม่กับแม่เป็นเพื่อนกันมาก่อน และลูกกับลูกก็เป็นเพื่อนกันอีก

ถ้าเป็นกรณีอย่างหลังนี้คุณสมัครน่าจะพูดว่า "ไปเผาพี่ชายของเพื่อนแม่มาว่ะ" หรือ "ไปเป็นเพื่อนแม่ในงานศพว่ะ"  ทำนองนี้

สำหรับประโยคของการสนทนาประโยคต่อไปนั้น  เดาได้เลยว่า ประโยคต่อไปคุณสมัครก็ต้องถามคุณชวลิตว่า "เอ้า แล้วแม่มึงไปไหน"

ขอยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวอีกนิดหนึ่ง คือ ข้อความจากอนัตตลักขณสูตร ดังนี้ ในส่วนที่ให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ

 [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลายเพราะเหตุนั้นแล
[รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]
เธอทั้งหลายพึงเห็น [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ผมขอฟังธงด้วยหลักการของทางภาษาศาสตร์เลยว่า ข้อความที่ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา แสดงว่า ตัวตนของเรามี  แต่ไม่ใช่ขันธ์ 5 [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้นดังนี้

ตอนที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ครูมักจะพาไปทัศนาจรตอนที่โรงเรียนปิดเทอมเป็นประจำ ก็เหมารถบัสกันไป ที่ไปเที่ยวกันนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะโรงเรียนเราโรงเรียนเดียว โรงเรียนอื่นเขาก็ไปกัน 

ครั้งหนึ่งไปเที่ยวบางแสน  คนขับก็ปล่อยให้นักเรียนลงไปเที่ยวก่อน แล้วไปหาที่จอดรถทีหลัง 

เมื่อเที่ยวกันพอสมควรแก่เวลาแล้วก็จะกลับ ผมเดินกลับมาถึงรถแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นรถ เพราะมันร้อน  สมัยนั้นยังไม่มีรถปรับอากาศแบบสมัยนี้ ก็เลยนั่งรอเพื่อนๆ อยู่ในบริเวณนั้น

ระหว่างที่นั่งรออยู่นั้น ก็เห็นเพื่อนสนิทกัน 2-3 คน เดินไปขึ้นรถคันอื่น แบบหน้าตาเฉย

ผมก็วิ่งไปบอกเพื่อนว่า "เฮ้ย ไม่ใช่รถเรา"

ในกรณีเช่นนี้ แสดงว่า รถเราต้องมี  ถ้าผมกับเพื่อนไปรถโดยสาร ผมก็ต้องใช้ประโยคอื่นๆ เช่น  รถคันนี้ไม่ใช่รถโดยสาร เป็นต้น

โดยสรุป

จะเห็นได้ว่า นักปริยัติ/พุทธวิชาการ รวมถึงพุทธปฏิบัติธรรมบางท่าน บางสายไม่เข้าใจประเด็นเกี่ยวกับความหมาย  พอมีคนตีความแบบผิดๆ ไปว่า "ตัวตนไม่มี" เพราะเข้ากันได้ดีกับวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า เกิดมาหนเดียว

เมื่อไม่เข้าใจเรื่องความหมาย เห็นฝรั่งเป็นเทวดา  ก็จำกันมาอย่างนั้นอย่างผิดๆ และ สอนกันไปอย่างผิดๆ

ตรงนี้ขอบอกล่วงหน้าเลยว่า วิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ตัวตนของเรานั้นมีแน่นอน พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิชาการ 

นอกจากนั้นแล้ว ตัวตนของเรามีทั้งแบบที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแบบที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ซึ่งจะได้นำมาเสนออย่างละเอียดในบันทึกที่เกี่ยวข้องต่อไป...